วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ติดตาม ISON กันต่อด้วยกล้อง SOHO

ตอนนี้ดาวหาง ISON เริ่มสังเกตการณ์ได้ยากขึ้นทุกทีครับ เพราะเริ่มปรากฏเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังสามารถติดตามลุ้นไปกับดาวหางดวงนี้ได้ต่อ แบบเกือบ real time ผ่านกล้องโทรทรรศน์อวกาศโซโฮ (SOHO) ครับ


กล้องโทรทรรศน์อวกาศโซโฮ (SOHO)
[Credit: ESA/NASA]

กล้องโทรทรรศน์อวกาศโซโฮ (SOHO หรือ Solar and Heliospheric Observatory) เป็นหนึ่งในกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีภารกิจหลักในการเฝ้าสังเกตดวงอาทิตย์จากอวกาศ โดยใช้เทคนิกพิเศษในการสร้างสุริยุปราคาจำลองขึ้น เพื่อสังเกตบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ได้อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ SOHO มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ครับ ไม่ได้โคจรรอบโลกแบบเดียวกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล โดยมีวงโคจรถัดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จากวงโคจรของโลกประมาณ 0.01 หน่วยดาราศาสตร์ (AU)


วงโคจรของกล้องโทรทรรศน์อวกาศโซโฮ (SOHO)
[Credit: ESA/NASA]

กล้องอวกาศโซโฮนั้นติดตั้งอุปกรณ์การสังเกตดวงอาทิตย์ไว้หลายชนิดครับ แต่ที่เราสนใจคือ อุปกรณ์ที่เรียกว่า LASCO หรือ Large Angle and Spectrometric Coronagraph ครับ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงในชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ มีด้วยกันทั้งหมด 3 ตัวครับ C1 C2 และ C3 โดยแต่ละตัวจะมีขนาดความกว้างของมุมมอง หรือ field of view ไม่เท่ากัน
- กล้อง C1 มีมุมมองกว้าง 1.1 - 3 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์ (0.013 AU จากศูนย์กลางดวงอาทิตย์)
- กล้อง C2 มีมุมมองกล้าง 2 - 6 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์ (0.027 AU จากศูนย์กลางดวงอาทิตย์)
- กล้อง C3 มีมุมมองกล้าง 3.7 - 32 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์ (0.148 AU จากศูนย์กลางดวงอาทิตย์)
อย่างไรก็ตาม กล้อง C1 จะถูกใช้เฉพาะในการศึกษา interferometer ของชั้นโคโรนา ในขณะที่กล้อง C2 และ C3 ใช้ถ่ายภาพในย่านแสงขาวของชั้นโคโรนา ซึ่งทำให้เราจะสามารถมองเห็นดาวหางได้จากกล้อง C2 และ C3 เท่านั้นครับ

ตัวอย่างภาพจากกล้อง LASCO C2
[Credit: ESA/NASA]

ตัวอย่างภาพจากกล้อง LASCO C3
[Credit: ESA/NASA]


เนื่องจากดาวหาง ISON จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ในระยะ 0.012 AU ซึ่งจะอยู่ในมุมมองของทั้งกล้อง C2 และ C3 ดังนั้นเราจึงสามารถใช้ติดตามดาวหาง ISON ได้จากกล้อง 2 ตัวนี้ โดยสามารถติดตามภาพถ่ายล่าสุดได้ที่ เว็บไซต์ของกล้องอวกาศโซโฮ ครับ ภาพจากกล้อง SOHO เหล่านี้จะอัพเดตอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เราสามารถติดตามภาพดาวหางได้แบบเกือบ real time ครับ

เว็บไซต์ของกล้องอวกาศโซโฮ

ดาวหาง ISON จะเริ่มมองเห็นได้ในมุมมองของกล้อง LASCO C3 ในวันที่ 27 พ.ย. 2013 เวลาประมาณ 3:00 UT ครับ (สำหรับที่เมืองไทยก็ประมาณ 10:00 นาฬิกาครับ)

ตัวอย่างภาพดาวหาง 96P/Machholz1 ในมุมมองของกล้อง LASCO C3


นอกจากนี้บนเว็บไซต์ของ SOHO ยังมีซอฟแวร์ JHelioviewer ซึ่่งเป็นซอฟแวร์ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังฐานข้อมูลภาพถ่ายของกล้องอวกาศโซโฮที่ถ่ายเก็บไว้ย้อนหลังไปอีก 15 ปี โดยสามารถเลือกโหลดภาพในช่วงเวลาที่สนใจจากอุปกรณ์ถ่ายภาพต่างๆ แล้วนำมาแสดงเป็นภาพเคลื่อนไหว และบันทึกเป็นไฟล์ VDO ได้อีกด้วยครับ น่าสนใจมาก ท่านใดสนใจสามารถดาวน์โหลดฟรีได้ ที่นี้ครับ

ซอฟแวร์ JHelioviewer


ลองดาวน์โหลดมาใช้ดูนะครับ และติดตามชมภาพดาวหาง ISON ที่กำลังแหวกว่ายผ่านบรรยากาศของดวงอาทิตย์ไปพร้อมๆ กันครับ



วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Outburst ของ ดาวหาง ISON

ขณะนี้ดาวหาง ISON กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่วงโคจรของดาวพุธแล้วครับ และเริ่มตอบสนองต่อพลังงานของดวงอาทิตย์อย่างรุนแรง โดยหัวโคมาของดาวหางเริ่มเกิดการปะทุหรือที่เรียกว่า Outburst ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดาวหางทีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน 




ตำแหน่งของดาวหาง ISON บนวงโคจร ในวันที่ 23 พ.ย. 2013


ถึงวันนี้แม้ว่าการติดตามสังเกตการณ์ดาวหาง ISON ผ่านเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ในต่างประเทศของผมต้องหยุดลง เนื่องจากดาวหางปรากฏอยู่ใกล้ขอบฟ้ามากเกินกว่าลิมิตของกล้องดูดาวจะถ่ายภาพได้ แต่ก็ยังมีนักดาราศาสตร์สมัครเล่นอีกหลายท่านที่มีกล้องดูดาวเป็นของตนเอง และยังคงติดตามถ่ายภาพดางหางอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงในขณะนี้ ทำให้เราสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวหางได้โดยไม่ขาดช่วง


กราฟการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวหาง (Visual Magnitude)


ดาวหาง ISON ขณะนี่มีความสว่างถึงแมกนิจูดที่ 4 แล้ว และเริ่มมีรายงานการสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่าบ้างแล้ว สำหรับที่เมืองไทยเอง ใครที่อยากเห็นอาจต้องขึ้นไปทางเหนือน่าจะมีโอกาสมากว่านะครับ ตอนนี้ที่เชียงใหม่ก็เริ่มมองเห็นได้กันแล้ว ด้วยตาเปล่าอาจจะลำบากสักหน่อย แต่ถ้าใช้กล้องสองตาช่วยน่าจะสังเกตได้ไม่ยากครับ


กลับมาเรื่องการเกิด Outburst ของดางหางกันนิดนะครับ การเกิด Outburst หรือการปะทุของดาวหางนั้นสามารถสังเกตได้จากอัตราการปลดปล่อยอนุภาคฝุ่นของดาวหางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปริมาณฝุ่นที่เพิ่มขึ้นจะทำให้หัวโคมาของดาวหางมีขนาดเพิ่มขึ้น และสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ได้มากขึ้น เป็นผลให้ดาวหางมีความสว่างเพิ่มมากขึ้นนั้นเอง โดยปกติแล้วก่อนที่ดาวหางจะเกิดการปะทุขึ้น การปลดปล่อยอนุภาคฝุ่นของดาวหางจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นมาระยะหนึ่ง ปริมาณฝุ่นที่สะสมอยู่รอบๆ จะทำให้หัวโคมาของดาวหางขยายขนาดเพิ่มขึ้น จนกระทั้ง...บูม! เกิดการปะทุอย่างรุนแรง มีปริมาณฝุ่นถูกปลดปล่อยออกมาอย่างมากในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้ดาวหางมีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงครับ หากการปะทุรุนแรงมาก อาจทำให้หัวโคมาแตกออกเป็นชิ้นๆ ได้ ซึ่งความสว่างก็จะฮวบลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน

อัตราการปลดปล่อยอนุภาคฝุ่นของดาวหางนั้น นักดาราศาสตร์จะอธิบายด้วยค่าพารามิเตอร์ตัวหนึ่งที่เรียกว่า Afρ (ออกเสียงว่า Af-rho) ครับ ด้วยการวิเคราะห์ค่าความสว่างรอบๆ หัวโคมา ร่วมกับการพิจารณา ระยะห่างระหว่างโลก ดาวหาง และดวงอาทิตย์ เพื่ออธิบายผลของค่าความสว่างทีี่เกิดจากการปลดปล่อยอนุภาคฝุ่นรอบๆ หัวโคมาของดาวหาง หากท่านใดสนใจศึกษารายละเอียดในเชิงลึก คลิกที่นี้เลยครับ


กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงค่า Afρ ของดาวหาง ISON ในช่อง 30 วัน
[Credet: Cometas_Obs]


จากกราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงค่า Afρ ด้านบน เห็นได้ชัดครับว่า ดาวหาง ISON มีการปลดปล่อยอนุภาคฝุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวันที่ 14 พ.ย. 2013 และค่อยๆ ลดลง จนกระทั่งในวันที่ 20 พ.ย. 2013 ได้มีสัญญาณของการปะทุรอบที่ 2 ขึ้นอีก ไม่รู้ว่าหากดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นกว่านี้ จะมีการปะทุเกิดขึ้นอีกสักกี่ครั้ง ต้องติดตามต่อไปครับ


วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ดาวหาง ISON ... มุ่งหน้าเข้าสู่วงโคจรของดาวศุกร์

หลังจากติดตามสังเกตการณ์ ดาวหาง ISON ผ่านเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ iTelescope ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ดาวหางเคลื่อนผ่านวงโคจรของโลกไปแล้ว และกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่วงโคจรของดาวศุกร์


ตำแหน่งของดาวหาง ISON บนวงโคจร ในวันที่ 7 พ.ย. 2013


การเปลี่ยนแปลงของดาวหาง ISON ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2013 ถึง วันที่ 2 พ.ย. 2013
(เลือกเฉพาะภาพที่ถ่ายจากกล้องขนาด 0.43 เมตร และใช้เวลาเปิดหน้ากล้องเท่ากัน)

ถึงแม้ว่าความสว่างของดาวหางจะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าถึงประมาณ 2 เมกนิจูด ภาพด้านล่างนี้ค่าความสว่างถูกวิเคราะห์โดยซอฟแวร์  Astrometrica, FoCAs และ Kphot เพื่อประมาณค่าความสว่างเที่ยบเท่ากับการสังเกตด้วยตา (visual magnitude) โดยแถบสีส้มเป็นช่วงเวลาที่ดาวหางปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้าต่ำกว่า 20 องศา ซึ่งต่ำกว่าลิมิตรของกล้องดูดาวที่สามารถถ่ายภาพได้

กราฟการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวหาง ISON เทียบกับค่าที่คาดการณ์ไว้
จาก Minor Planet Centor (MPC)

รายงานการสังเกตดาวหางแบบวันต่อวัน

วันที่ 31 ต.ค. 2013
สังเกตการณ์ด้วยกล้อง Planewave CDK ขนาด 0.43 เมตร (17") ที่ New Mexico ดาวหางอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต มีความสว่าง 9.4 เมกนิจูด ปรากฏหางทอดยาวออกไป ประมาณ 20 อาร์คนาที (60 อาร์คนาที = 1 องศา) ทิศทางของหางอยู่ในแนวเดียวกับทิศทางการเคลื่อนที่ของดาวหาง

ตำแหน่งดาวหางที่ New Mexico จากซอฟแวร์ Stellarium



วันที่ 2 พ.ย. 2013
สังเกตการณ์ด้วยกล้อง Planewave CDK ขนาด 0.43 เมตร (17") ที่ New Mexico ดาวหางอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต มีความสว่างเท่าเดิม 9.4 เมกนิจูด ปรากฏหางทอดยาวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 24 อาร์คนาที (60 อาร์คนาที = 1 องศา) ทิศทางของหางอยู่ในแนวเดียวกับทิศทางการเคลื่อนที่ของดาวหาง

ตำแหน่งดาวหางที่ New Mexico จากซอฟแวร์ Stellarium



วันที่ 7 พ.ย. 2013
สังเกตการณ์ด้วยกล้อง Takahashi Epsilon ขนาด 0.25 เมตร ที่ New Mexico ดาวหางเคลื่อนมาอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว มีความสว่างเพิ่มขึ้นเป็น 8.8 เมกนิจูด ปรากฏหางทอดยาวเท่าเดิม ประมาณ 24 อาร์คนาที (60 อาร์คนาที = 1 องศา) ทิศทางของหางอยู่ในแนวเดียวกับทิศทางการเคลื่อนที่ของดาวหาง

ตำแหน่งดาวหางที่ New Mexico จากซอฟแวร์ Stellarium



อย่างไรก็ตามยังไม่พบสัณญาณของการแตกตัวของนิวเคลียส (Disintegration) อย่างที่มีการคาดการณ์ไว้ ซึ่งบางที่อาจต้องงรอให้ดาวหางเข้าใกล้ดาวอาทิศย์มากกว่านี้อีก แต่การติดตามสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์ในต่างประเทศนี้ คงทำได้แค่เพียงวันที่ 12 พ.ย. 2013 เท่านั้น เนื่องจากดาวหางจะปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้าต่ำกว่า 20 องศา ซึ่งต่ำกว่าลิมิตการถ่ายภาพของกล้องที่ผมใช้งาน ต้องรอหลังจากดาวหางโคจรออกมาจากดาวอาทิตย์อีกครั้งหนึ่ง (ถ้ารอดมาได้นะ...) ถึงจะเริ่มภายภาพได้อีกครั้ง


วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เกาะติดดาวหาง C/2012 S1 (ISON)

ดาวหางไอซอน (C/2012 S1 :ISON) ดาวหางคาบยาวจากดินแดนกลุ่มเมฆออร์ต กำลังเดินทางมุ่งหน้าสู่ใจกลางของระบบสุริยะโดยมีเป้าหมายคือ การโคจรเข้าใกล้พื้นผิวดวงอาทิตย์แบบเฉียดพื้นผิว


เนื่องจากการคำนวณวงโคจรของดาวหางไอซอนพบว่า ดาวหางจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากถึง 0.012 หน่วยดาราศาตร์ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2013 ซึ่งเรียกได้ว่าเฉียดพื้นผิวดวงอาทิตย์เลยทีเดียว 

ดาวหางที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขนาดนี้มีไม่มากนักในอดีต จึงทำให้ดาวหางไอซอนกลายเป็นดาราที่มีกลุ่มคนจำนวนมากเฝ้าติดตาม โดยคาดหวังว่าจะเป็นดาวหางที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า และมีหางทอดยาวหลายสิบองศาบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน 


ถึงแม้ดาวหางไอซอนจะถูกคาดการค่าความสว่างไว้ถึงประมาณแมกนิจูดที่ -4 ขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ดาวหางจะมีความสว่างไม่มากอย่างที่คาดไว้ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์อาจฉีดดาวหางออกเป็นชิ้นๆ อย่างที่ดางหฤหัสบดีทำกับ ดางหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 หรือ D/1993 F2 ในปี ค.ศ. 1994 แต่นั่นก็เป็นเพียงการคาดการเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป


และด้วยความน่าสนใจของดาวหางดวงนี้ ผู้เขียนจึงตั้งใจจะติดตามถ่ายภาพและวิเคราะห์ค่าความสว่างของดาวหางงดางนี้ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ iTelescope.net ในการติดตามถ่ายภาพ หากท่านใดสนใจลองเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่ www.itelescope.net หรือศึกษาคู่มือการใช้งานเบื้องต้นได้ที่ LESA Project โดย ผู้เขียนวิเคราะห์พิกัดตำแหน่งและค่าความสว่างตามบทความของคุณ Roger Dymock ภายใต้โครงการ Alcock ของสมาคมดาราศาสตร์ประเทศอังกฤษ (BAA) เรื่อง " CCD Astrometry and Photometry"โดยใช้ซอฟแวร์ Astrometrica, FoCAs และ Kphot. 

ซอฟแวร์ Astrometrica เป็นซอฟแวร์สำหรับการระบุพิกัดของวัตถุท้องฟ้า (Astrometry) อีกทั้งยังเป็น Shareware ที่มีความสามารถระดับงานวิจัยเลยทีเดียว สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.astrometrica.at 



ซอฟแวร์ FoCAs เป็นซอฟแวร์สำหรับวิเคราะห์หาค่าความสว่าง (Photometry) โดยใช้วิธีที่่เรียกว่า Multi-Aperture ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวสเปน ซอฟแวร์ FoCAs จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่อจาก Astometrica อีกทีหนึ่ง โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.astrosurf.com/cometas-obs



สุดท้ายซอฟแวร์ Kphot เป็นซอฟแวร์ที่ทำงานบน Dos โดยจะทำการประมาณค่าความสว่างโดยรวม (Total Magnitude: m1) และ ค่า Afro ของดาวหาง โดยการวิเคราะห์ข้อมูลต่อจาก FoCAs ซึ่งค่าความสว่างที่คำนวณได้จะเรียกว่า Visual equivalent magnitude โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://kometen.fg-vds.de/kphotsoftware.zip



โดยข้อมูลการวิเคราะห์ทั้งหมดจะถูกรายงายไปยัง


Minor Planet Center
MPC reports - send to obs@cfa.harvard.edu

Cometas Group
MPC and Multibox reports - send to cometas_obs@yahoogroups.com

BAA Comet Section



วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ดาวหาง C/2012 S3 (Pan-STAAR)

ระหว่างที่กำลังรอสังเกตการณ์ดาวหาง ISON อยู่นั้น ซึ่งจะเริ่มถ่ายภาพได้อีกครั้งก็ราวๆ ต้นเดือนตุลาคมระหว่างนี้ก็ลองทดสอบถ่ายภาพดาวหางดวงอื่นไปก่อน 

วงโคจรของดาวหาง C/2012 S3

ภาพด้านล่างนี้เป็นภาพของดาวหาง C/2012 S3 (Pan-STARRS) ซึ่งกำลังโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ในวันที่ 30 สิงหาคม 2013 ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 2.308 หน่วยดาราศาสตร์ และห่างจากโลก 1.616 หน่วยดาราศาสตร์ เช่นเดียวกับดวงหาง C/2011 L4 ดาวหางดวงนี้มีชื้อว่า Pan-STARRS เช่นกัน เนื่องจากถูกค้นพบด้วยระบบกล้องสำรวจท้องฟ้า Panoramic Survey Telescope and Rapid Response System หรือ Pan-STARRS เช่นกัน โดยถูกค้นพบในวันที่ 27 กันยายน 2012


ในครั้งนี้ผู้เขียนใช้กล้องขนาด 0.32 เมตร Ritchey-Chretien ของเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ iTelescope ที่ Siding Spring ประเทศออสเตเลีย โดยใช้ฟิวเตอร์สีแดง (R) ถ่ายภาพละ 60 วินาที ทั้งหมด 5 ภาพ แล้วนำมาซ้อนภาพโดย Track&Stack ตามการเคลื่อนที่ของดาวหาง ทำให้เราได้ภาพคล้ายกับการแพนกล้องตามดาวหางไป และทำให้ดาวที่อยู่รอบๆ มีลักษณะเป็นเส้นยาว

ดาวหาง C/2012 S3 ซูม 8 เท่า และปรับภาพ
เพื่อให้เห็นรายละเอียดได้ดีขึ้น ด้วยซอฟแวร์ DS9



ทดสอบวิเคราะห์ความสว่าง (Photometry) ด้วยซอฟแวร์ FoCAs


วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Good Bye ... Pans-STARRS (C/2011 L4)

ภาพดาวหาง C/2011 L4 หรือ Pan-STARRS ดาวหางคาบยาวที่โคจรเข้ามาเยือนเหนือท้องฟ้าเมืองไทย ให้เราได้ตื่นเต้นกัน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอนนี้กำลังค่อยๆ โคจรจากไปแล้ว ภาพด้านล่างผู้เขียนถ่ายไว้ในวันที่ 11 มิถุนายน 2013 ที่ผ่านมา โดยใช้เครื่อข่ายกล้องโทรทรรศน์ iTelescope ที่ New Maxico


ดาวหาง Pans-STARRS ถูกค้นพบครั้งแรก ในเดือนมิถุนายน 2011 ด้วยระบบกล้องสำรวจท้องฟ้า Panoramic Survey Telescope and Rapid Response System หรือมีชื่อย่อว่า Pans-STARRS ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ Haleakala บนเกาะฮาวาย 

Pans-STARRS เป็นดาวหางคาบยาว ซึ่งจะโคจรเข้ามาเยือนระบบสุริยะของเราเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และขณะที่เคลื่อนเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์นั้น จะเข้าใกล้มากในระดับ 0.3 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งใกล้กว่าดาวพุธเสียอีก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ดาวหางดวงนี้อาจมีความสว่างได้ถึง -4 เมกนิจูด เลยทีเดียว ซึ่งสามารถมองเห็นได้ดวงตาเปล่า แต่เมื่อดาวหางโคจรเข้ามาจริงๆ ความสว่างกลับน้อยกว่าที่คาดการเอาไว้ โดยความสว่างลดลงเหลือ +2 เมกนิจูด แต่ก็ยังพอจะสังเกตด้วยตาเปล่าได้ 

สำหรับเมืองไทย ดาวหางจะปรากฎหลังจากดวงอาทิตย์ตก และอยู่ใกล้กับขอบฟ้าด้านทิศตะวันตกมาก ทำให้การสังเกตการณ์ทำได้ยาก แต่ก็ยังมีรายงานว่าคณะผู้สังเกตการณ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ สามารถบันทึกภาพดาวหางดวงนี้เอาไว้ได้ ในขณะที่ตอนนั้นผู้เขียนอยู่ที่จังหวัดระยอง และถึงแม้จะแบกกล้องไปนั้งรออยู่ที่ชายหาด แต่ก็หมดหวังครับ ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆและเฮด 

ตำแหน่งของดาวหางบนวงโคจรในวันที่ทำการบันทึกภาพ


กราฟแสดงการคาดการความสว่างของดาวหาง ซึ่งจะลดลงเรื่อยๆ 
[Credit: อฟแวร์ Obitas 1.19]

แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ ยังมีดางหางอีกหนึ่งดวง ที่กำลังโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ โดยจะเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากถึง 0.012 หน่วยดาราศาสตร์ หรือเรียกได้ว่าเฉียดผิวของดวงอาทิตย์ไปเพียงนิดเดียวเท่านั้นเองเลยทีเดียว นั่นคือ ดาวหาง ISON (C/2012 S1) ซึ่งคาดการว่าเมื่อโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอาจมีความสว่างได้มากถึง -13 เมกนิจูด เลยทีเดียว แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า ช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดนั้น ดาวหางจะขึ้นตกพร้อมกับดวงอาทิตย์ครับ ซึ่งเราไม่สามารถสังเกตดางหางได้ในช่วงนั้น ยังไงก็ต้องลองลุ้นดูครับว่า ISON จะทำให้เราผิดหวังหรือเปล่า

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ดาวหาง C/2011 R1 (McNaught)

ดาวหาง C/2011 R1 (McNaught) ขณะกำลังโคจรออกห่างจากโลกของเราไปในอวกาศ หลังจากโคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 8 เมษายน 2013 ด้วยระยะห่าง 1.96 AU

วงโคจรของดาวหาง C/2011 R1

ดาวหาง C/2011 R1 (McNaught) เป็นดาวหางคาบยาว มีลักษณะวงโคจรเป็นแบบไฮเปอร์โบลา หรือมีค่าความรีของวงโคจรมากกว่า 1 (e > 1.0) ซึ่งดาวหางที่มีวงโคจรในลักษณะนี้ จะโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์แค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น


ภาพด้านบนนี้ ถูกบันทึกไว้ในวันที่ 30 เมษายน 2013 เวลา 04:24:08 UTC ขณะที่ดาวหางอยู่ห่างออกไปประมาณ 2 AU และมีระดับความสว่าง 12.5 เมกนิจูด โดยการสังเกตการณ์ระยะไกล (Remotely Observed) ผ่านเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ iTelescope ที่ New Maxico ด้วยกล้อง Takahashi Epsilon 250 ขนาดหน้ากล้อง 0.25 เมตร f/3.4 ผ่าน CCD SBIG ST-10XME เปิดหน้ากล้องนาน 300 วินาที โดยไม่ใช้ฟิลเตอร์

วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ อุกกาบาต Chelyabinsk

หลังจาก เหตุอุกกาบาตตกในเมือง Chelyabinsk ของประเทศรัสเซีย ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา โดยมีผู้พบเห็นและสามารถถ่ายคลิปวีดีโอเอาไว้ได้เป็นจำนวนมากนั้น ขณะนี้นักดาราศาสตร์ได้ทราบถึงที่มาของอุกาบาตปริศนาดวงนี้แล้ว

ร่องรอยของอุกกาบาต Chelyabinsk
[Credit: European Space Agency: ESA]

อุกกาบาตลูกนี้ เคลื่อนที่พาดผ่านบนท้องฟ้า จากทาง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปยัง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สูงจากขอบฟ้าเป็นมุมประมาณ 20 องศา ด้วยความเร็มประมาณ 18 กิโลเมตรต่อวินาที หรือ 64,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (คำนวณโดย Peter Brown แห่งมหาวิทยาลัย University of Western Ontario ประเทศเคนาดา) ด้วยความเร็วขนาดนี้เมื่อปะทะกับความหนาแน่นของบรรยากาศโลก ที่ระดับความสูงประมาณ 15-20 กิโลเมตร จึงทำให้เกิดการระเบิด และด้วยขนาดประมาณ 17 เมตร และมีมวลกว่า 7000-10000 ตัน จึงทำให้แรงระเบิดที่เกิดขึ้น อาจเทียบได้กับ ระเบิด TNT ขนาด 500 กิโลตันเลยทีเดียว 

แสดงลักษณะวงโคจรของดาวเคาะห์น้อย Chelyabinsk (ChM) 
ส่วนรูปวงโคจรที่เป็นเส้นประ (---) และเป็นเส้นจุด (...) สีน้ำเงินนั้น
แสดงวงโคจรที่ใกล้และไกลที่สุดที่อาจเป็นไปได้
[Credit: Jorge I. Zuluaga, Ignacio Ferrin]


ล่าสุด ทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย University of Antioquia ของประเทศโคลัมเบีย โดย Jorge I. Zuluaga และ Ignacio Ferrin ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ "A preliminary reconstruction of the orbit of the Chelyabinsk Meteoroid" โดยการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน จากภาพถ่ายและวีดีโอ เพื่อนำมาคำนวณทิศทางการพุ่งตกของอุกกาบาต และใช้ข้อมูลที่ได้คำนวณกลับไปสู่การอธิบายลักษณะวงโคจรของอุกกาบาต ก่อนตกลงสู้พื้นโลก โดยใช้กระบวนการวิธี Monte Carlo Methods ในการคำนวณความน่าจะเป็นของตัวแปรต่างๆ ของวงโคจร โดยอุกกาบาตลูกนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของ ดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรใกล้โลก (NEAs) ในกลุ่มของ Apollo (สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง "NEO คืออะไร")

และส่วนคำถามที่หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมเราถึงไม่พบดาวเคาะห์น้อยดวงนี้ก่อนที่มันจะพุ่งชนโลก?

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า ถึงแม้ตอนนี้เราจะมีองค์กรและหอดูดาวขนาดใหญ่หลายแห่ง รับหน้าที่ดูแลเรื่องการค้นหา และคำนวณวงโคจรของวัตุถเหล่านี้แล้วก็ตาม แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะตรวจพบมันได้ก่อนที่มันจะเข้ามาถึงตัวเรา ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็ก (นั้นแปลว่ามีความสว่างน้อยด้วย) และมีความเร็วสูงนั้น กว่าที่มันจะเข้าใกล้จนมีความสว่างมากพอที่จะตรวจจับได้ ก็อาจใกล้เกินไปเสียแล้ว 

ยกตัวอย่าง เช่น ดาวเคราะห์น้อย 2008 TC3 ที่พุ่งเข้าสู่บรรยากาศโลกและตกลงบริเวณทะเลทรายของประเทศซูดาน ในวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2008 ซึ่งก็เป็นดาวเคราะห์น้อยที่เราตรวจพบเพียง 20 ชั่งโมงเท่านั้น ก่อนที่จะพุ่งเข้าชนโลก

Donald Yeomans นักดาราศาสตร์ ของ JPL 
อธิบายเกี่ยวกับ พุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย 2008 TC3



วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

2011 AG5 ลดระดับความเสี่ยงลงเท่ากับศูนย์แล้ว

หลังจากได้รับการจัดระดับความเสี่ยงเท่ากับ 1 ตามมาตราโทริโน และสร้างความวิตกกังวลแก่คนทั่วทั้งโลกมาระยะหนึ่ง ตอนนี้ดาวเคราะห์น้อย 2011 AG5 ได้รับการปรับระดับความเสียงลงเป็น 0 แล้ว หลังจากที่ ทีมนักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย Dave Tholen, Richard Wainscoat และ Marco Micheli ใช้กล้องโทรทรรศน์ Gemini ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร บนยอดเขา Mauna Kea ทำการสังเกตดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ขณะที่มีความสว่างน้อยมาก ประมาณ เมกนิจูดที่ 24 ในวันที่ 20, 21 และ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2012 ที่ผ่านมา

แสดงขอบเขตความไม่แน่นอนของตำแหน่งดาวเคราะห์น้อยขณะที่โคจรเข้ามาใกล้โลก
[Credit: NASA/Near Earth Object Program]

แสดงขอบเขตความไม่แน่นอนของตำแหน่งดาวเคราะห์น้อยขณะที่โคจรเข้ามาใกล้โลก
หลังจากได้รับข้อมูลการสังเกตการณ์เพิ่มเติม 
[Credit: NASA/Near Earth Object Program]

ผลการสังเกตถูกส่งไปยัง IAU Minor Planet Center เพื่อทำการคำนวณวงโคจรใหม่ และผลการคำนวณแสดงให้เห็นว่า ค่าความไม่แน่นอนของวงโคจร ( Uncertainty Parameter: U) มีค่าลดลงเท่ากับ 0 ซึ่งนั้นหมายความว่า เราทราบวงโคจรที่แน่นอนของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้แล้ว และเป็นข่าวดี ดาวเคราะห์น้อย 2011 AG5 จะโคจรผ่านโลกไป ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2040 ที่ระยะห่างประมาณ 890,000 กิโลเมตร หรือมากกว่า 2 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์

ที่มาและข้อมูลเพิ่มเติม 
http://neo.jpl.nasa.gov/news/news176.html