วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ติดตาม ISON กันต่อด้วยกล้อง SOHO

ตอนนี้ดาวหาง ISON เริ่มสังเกตการณ์ได้ยากขึ้นทุกทีครับ เพราะเริ่มปรากฏเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังสามารถติดตามลุ้นไปกับดาวหางดวงนี้ได้ต่อ แบบเกือบ real time ผ่านกล้องโทรทรรศน์อวกาศโซโฮ (SOHO) ครับ


กล้องโทรทรรศน์อวกาศโซโฮ (SOHO)
[Credit: ESA/NASA]

กล้องโทรทรรศน์อวกาศโซโฮ (SOHO หรือ Solar and Heliospheric Observatory) เป็นหนึ่งในกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีภารกิจหลักในการเฝ้าสังเกตดวงอาทิตย์จากอวกาศ โดยใช้เทคนิกพิเศษในการสร้างสุริยุปราคาจำลองขึ้น เพื่อสังเกตบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ได้อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ SOHO มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ครับ ไม่ได้โคจรรอบโลกแบบเดียวกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล โดยมีวงโคจรถัดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จากวงโคจรของโลกประมาณ 0.01 หน่วยดาราศาสตร์ (AU)


วงโคจรของกล้องโทรทรรศน์อวกาศโซโฮ (SOHO)
[Credit: ESA/NASA]

กล้องอวกาศโซโฮนั้นติดตั้งอุปกรณ์การสังเกตดวงอาทิตย์ไว้หลายชนิดครับ แต่ที่เราสนใจคือ อุปกรณ์ที่เรียกว่า LASCO หรือ Large Angle and Spectrometric Coronagraph ครับ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงในชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ มีด้วยกันทั้งหมด 3 ตัวครับ C1 C2 และ C3 โดยแต่ละตัวจะมีขนาดความกว้างของมุมมอง หรือ field of view ไม่เท่ากัน
- กล้อง C1 มีมุมมองกว้าง 1.1 - 3 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์ (0.013 AU จากศูนย์กลางดวงอาทิตย์)
- กล้อง C2 มีมุมมองกล้าง 2 - 6 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์ (0.027 AU จากศูนย์กลางดวงอาทิตย์)
- กล้อง C3 มีมุมมองกล้าง 3.7 - 32 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์ (0.148 AU จากศูนย์กลางดวงอาทิตย์)
อย่างไรก็ตาม กล้อง C1 จะถูกใช้เฉพาะในการศึกษา interferometer ของชั้นโคโรนา ในขณะที่กล้อง C2 และ C3 ใช้ถ่ายภาพในย่านแสงขาวของชั้นโคโรนา ซึ่งทำให้เราจะสามารถมองเห็นดาวหางได้จากกล้อง C2 และ C3 เท่านั้นครับ

ตัวอย่างภาพจากกล้อง LASCO C2
[Credit: ESA/NASA]

ตัวอย่างภาพจากกล้อง LASCO C3
[Credit: ESA/NASA]


เนื่องจากดาวหาง ISON จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ในระยะ 0.012 AU ซึ่งจะอยู่ในมุมมองของทั้งกล้อง C2 และ C3 ดังนั้นเราจึงสามารถใช้ติดตามดาวหาง ISON ได้จากกล้อง 2 ตัวนี้ โดยสามารถติดตามภาพถ่ายล่าสุดได้ที่ เว็บไซต์ของกล้องอวกาศโซโฮ ครับ ภาพจากกล้อง SOHO เหล่านี้จะอัพเดตอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เราสามารถติดตามภาพดาวหางได้แบบเกือบ real time ครับ

เว็บไซต์ของกล้องอวกาศโซโฮ

ดาวหาง ISON จะเริ่มมองเห็นได้ในมุมมองของกล้อง LASCO C3 ในวันที่ 27 พ.ย. 2013 เวลาประมาณ 3:00 UT ครับ (สำหรับที่เมืองไทยก็ประมาณ 10:00 นาฬิกาครับ)

ตัวอย่างภาพดาวหาง 96P/Machholz1 ในมุมมองของกล้อง LASCO C3


นอกจากนี้บนเว็บไซต์ของ SOHO ยังมีซอฟแวร์ JHelioviewer ซึ่่งเป็นซอฟแวร์ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังฐานข้อมูลภาพถ่ายของกล้องอวกาศโซโฮที่ถ่ายเก็บไว้ย้อนหลังไปอีก 15 ปี โดยสามารถเลือกโหลดภาพในช่วงเวลาที่สนใจจากอุปกรณ์ถ่ายภาพต่างๆ แล้วนำมาแสดงเป็นภาพเคลื่อนไหว และบันทึกเป็นไฟล์ VDO ได้อีกด้วยครับ น่าสนใจมาก ท่านใดสนใจสามารถดาวน์โหลดฟรีได้ ที่นี้ครับ

ซอฟแวร์ JHelioviewer


ลองดาวน์โหลดมาใช้ดูนะครับ และติดตามชมภาพดาวหาง ISON ที่กำลังแหวกว่ายผ่านบรรยากาศของดวงอาทิตย์ไปพร้อมๆ กันครับ



1 ความคิดเห็น:

  1. ชอบ แต่ดูไม่เป็นต้องรอคำอธิบายครับ

    ตอบลบ