วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

ซอฟต์แวร์ Stellarium กับการศึกษา NEOs (ตอนที่ 2)

สำหรับการใช้งาน Stellarium ในตอนที่ 2 นี้ จะขอแนะนำการเซตขนาด field of view (FOV) หรือ ขนาดความกว้างของภาพที่เรามองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือภาพที่ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์

ตัวอย่างเช่น:

ภาพที่มองผ่านกล้องสองตา ที่กำลังขยาย 15 เท่า และมี FOV = 4.4 องศา

ภาพที่มองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ที่กำลังขยาย 162.5 เท่า และมี FOV = 0.34 องศา

การจับคู่กันของกล้องโทรทรรศน์และเลนส์ใกล้ตา หรือกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์ถ่ายภาพชุดหนึ่งๆ  จะให้ค่า FOV ต่างกันออกไป โดยจะขึ้นอยู่กับค่ากำลังขยายที่ใช้ ชนิดของเลนส์ใกล้ตา และขนาดของชิฟ CCD ที่ใช้ในการรับภาพในกรณีของการถ่ายภาพ

วิธีการทำให้ Stellarium ของเรารู้จักกับอุปกรณ์ที่เราใช้ และคำนวณค่า FOV ให้เรานั้นก็ไม่ยากครับ เริ่มจาก


1. เลือก Configuration  จากไอคอนรูปประแจด้านซ้ายมือ แล้วเลือกแท็ป Plugin จากนั้นเลือก Plugin ชื่อ Oculars แล้ว คลิกปุ่ม Configure ด้านล่าง


2. เลือกแท็ป General แล้ว เลือก Interface เป็นแบบ On-screen control panel


3. เลือกแท็ป Eyepieces แล้วคลิกปุ่ม Add จะปรากฏรายการ เลนส์ใกล้ตาของเราชื่อ My Ocular โดยสามารถเปลี่ยนชื่อและข้อมูลได้ตามรายละเอียดด้านขวามือ ดังนี้

Name:  ชื่อที่เราต้องการ
aFOV: ค่า Apparent FOV ของเลนส์ใกล้ตา (หน่วยองศา ,มีคำอธิบายเพิ่มเติมด้านล่าง)
Focal length: ค่าความยาวโฟกัสของเลนส์ใกล้ตา (หน่วยมิลลิเมตร)
Field stop:  ขนาดของวงแหวน Field stop (หน่วยมิลลิเมตร  ,มีคำอธิบายเพิ่มเติมด้านล่าง)

ค่า aFOV ของเลนส์ใกล้ตา
เลนส์ใกล้ตาที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน จะประกอบขึ้นจากชิ้นเลนส์หลายชิ้น โดยอาจแบ่งออกได้ 3 ประเภทที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ดังนี้

ชนิดของเลนส์ใกล้ตาที่นิยมใช้ในปัจจุบัน [Credit: Julius L. Benton, Jr]

โดยจะเห็นว่าเลนส์ใกล้ตาแต่ละชนิด จะมีการประกอบชิ้นเลนส์ภายในแตกต่างกันออกไป ซึงมีผลให้เลนส์ใกล้ตาแต่ละแบบมีมุมมองภาพปรากฏ หรือ aFOV เมื่อมองผ่านเลนส์ใกล้ตาโดยตรงไม่ผ่านกล้องโทรทรรศน์ค่าหนึ่ง ซึ่งจะมีค่าประมาณ 45-55 องศา แต่ก็อาจมีเลนส์ใกล้ตาที่ผลิตขึ้นพิเศษ เพื่อให้มีค่า aFOV มากถึง 80 องศา ซึ่งจะถูกเรียกว่า เลนส์ใกล้ตาแบบมุมมองกว้าง หรือ wide-field

โดยปกติแล้ว เลนส์ใกล้ตาชนิด Kellner จะให้ค่า aFOV ประมาณ 50 องศา ชนิด Orthoscopic จะให้ค่า aFOV ประมาณ 45 องศา และชนิด Plossl จะให้ค่า aFOV ประมาณ 55 องศา เลนส์ใกล้ตาที่เราใช้เป็นชนิดใดก็ใส่ค่า aFOV ไปได้เลยครับ

ขนาดของ Field stop
Field stop นี้คือวงแหวนที่ใส่ไว้ในส่วนท้ายของเลนส์ใกล้ตา โดยทำหน้าที่จำกัดขอบเขตของ FOV                                     
หากไม่ทราบใช้ค่าเท่ากับ 0 ก็ได้ครับ

วงแหวน Field stop [Cradit: www.garyseronik.com]

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากผู้ผลิตจะได้ค่าที่ถูกต้องที่สุดครับ โดยเราสามารถค้นได้จากอินเทอร์เน็ต เช่น ข้อมูลของเลนส์ใกล้ตา ของ Orion Sirius Plossl ขนาด 25 mm จากเว็บของ www.telescope.com



Name:  Orion Sirius Plossl 25mm
aFOV:  52 
Focal length: 25
Field stop:  24.1


หลังจากหาข้อมูลของเลนส์ใกล้ดากันได้แล้ว ก็ไปกำหนดค่าของกล้องโทรทรรศน์ต่อเลยครับ


4. เลือกแท็ป Telescope ครับ แล้วคลิกปุ่ม Add เหมือนเดิม จากนั้นใส่ข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์ลงไปทางด้านขาวมือ


Name:  ชื่อที่เราต้องการ
Focal length: ค่าความยาวโฟกัสของเลนส์ใกล้วัตถุ (หน่วยมิลลิเมตร)
Diameter: ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหน้ากล้อง (หน่วยมิลลิเมตร)

เช่น


Name:  Meade LX200 16" 
Focal length: 4064
Diameter: 406.4


5. จากนั้นให้ปิดหน้าต่างที่ค้างอยู่ให้หมด แล้วลองค้นหาวัตถุที่เราสนใจ ในที่นี้ผมเลือก M57 หรือเนบิวลาวงแหวนในกลุ่มดาวพิณ


6. เมื่อพบวัตถุที่ต้องการแล้ว ลองสังเกตที่มุมบนด้านขวา จะมีเครื่องมือให้เลือกการแสดง FOV ลองคลิกเลือกดูครับ ตาทแบบที่เราชอบ โปรแกรมจะแสดงภาพเฉพาะที่อยู่ใน FOV ของกล้องโทรทรรศน์ และเลนส์ใกล้ตาที่เราใช้ 



ซึ่งสามารถเลื่อนเปลี่ยนการจับคู่ของกล้องโทรทรรศน์และเลนส์ใกล้ตาตัวอื่นๆ ได้ครับ 

ปล. สำหรับแท็ป Sensor ที่ข้ามไปจะเป็นการใส่ข้อมูลของกล้อง CCD ครับ ซึ่งจะขออธิบายอีกครั้งในภายหลัง แต่ถ้าใครสนใจจะลองศึกษาด้วยตัวเองก่อนก็ได้ครับ 



วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

ซอฟต์แวร์ Stellarium กับการศึกษา NEOs (ตอนที่1)

ซอฟต์แวร์ Stellarium เป็นซอฟต์แวร์ท้องฟ้าจำลอง ที่สามารถระบุคำแหน่งของดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และเทหวัตถุต่างๆ ตามสถานที่และเวลาที่เราสามารถระบุได้เอง และที่สำคัญ เป็นซอฟต์แวร์ที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีครับ ใครยังไม่เคยลองใช้ ลองเข้าไปดาวน์โหลดมาใช้กันได้ที่  www.stellarium.org

ซอฟต์แวร์ Stellarium 

ส่วนใครที่เคยใช้แล้ว วันนี้ผมมีเทคนิคการใช้ Stellarium ในการค้นหาตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง และวัตถุพวก NEOs มาฝากครับ เนื่องจากโดยปกติแล้ว Stellarium จะไม่ได้อัปเดตข้อมูลวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางให้เราครับ เราจึงจำเป็นต้องเข้าไปอัปเดตเอง ขั้นตอนก็ไม่ยากครับ เริ่มจาก


1. ลากเมาท์ไปวางไว้ทางด้านซ้านมือ พอแถบเครื่องมือปรากฏขึ้นก็ให้เลือก Configuration Window หรือจะกด F2 ก็ได้ครับ


2. เมื่อหน้าต่าง Configuration ปรากฏขึ้น ให้เลือกแท็ป Plugins และในรายการของ Plugins ด้านซ้าย ให้เลือก Solar System Editor จากนั้นให้คลิกปุ่ม Configure ในส่วนของ Options ด้านล่างครับ


3. จากนั้นหน้าต่าง Solar System objects จะปรากฏขึ้น ให้เลือกที่แท็ป Solar System ครับ ในแท็ปนี้จะมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนบน Solar System objects จะเป็นรายการของวัตถุที่เราเพิ่มข้อมูลของวงโคจรเข้ามาแล้ว และส่วนล่าง จะเป็นการอธิบายว่า เราสามารถเพิ่มข้อมูลของวัตถุที่เราสนใจได้ โดยดาวน์โหลดข้อมูลวงโคจรจากเว็บไซต์ของ Minor Planet Center หรือ MPC ให้เราคลิกที่ปุ่ม Import orbital elements in MPC format... เลยครับ


4. จากนั้น หน้าต่าง Import Data จะปรากฏขึ้น ในแท็ป List ส่วนของ Select the type ให้เราเลือกกลุ่มของวัตถุท้องฟ้าที่เราสนใจ โดยมีให้เลือก  2 ชนิด คือ ดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) หรือดาวหาง (Comet) ในที่นี้ผมเลือกดาวเคราะห์น้อย


5. จากนั้นในส่วนของ Select the source ให้เลือก Download a list of object from the internet แล้วเลือก Select bookmark โดยจะมีฐานข้อมูลดาวเคราะห์น้อยให้เราเลือกอยู่ 3 รายการ คือ

MPC's list of the bright minor planets at opposition in 2011
MPCORB: near-Earth asteroids (NEAs)
MPCORB: potentially hazardous asteroids (PHAs)

โดยในที่นี้ผมเลือก ฐานข้อมูลวงโคจรของ NEAs ครับ


6. เมื่อเลือกฐานข้อมูลแล้วให้คลิกที่ปุ่ม Get orbital elements แล้วรอสักครู่ครับ


7. เมื่อข้อมูลถูกดาวน์โหลดเรียบร้อยแล้วจะปรากฏหน้าต่าง Objects found เราสามารถเลือกเฉพาะวัตถุที่เราสนใจหรือเลือกทั้งหมดก็ได้ ในที่นี้ผมเลือกทั้งหมดครับ โดยการคลิกที่ปุ่ม Mark all จากนั้นคลิกที่ปุ่ม Add objects ครับ รอสักครู่หนึ่ง เมื่อหน้าต่าง Import data กลับมาเป็นหน้าต่างที่ปรากฏแท็ป Lists อีกครั้ง ก็แสดงว่าข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยในกลุ่ม NEAs ได้ถูกเพิ่มเข้าไปในฐานข้อมูลของ Stellarium เรียบร้อยแล้ว ให้ปิดหน้าต่างที่ค้างอยู่ให้หมดครับ แล้วลองมาค้นหาตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยกัน


8. ลองค้นหา (กด Ctrl+F) แล้วพิมพ์ชื่อดาวเคราะห์น้อย 2011 AG5 ลงไป แล้ว Enter ครับ


9. ตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยจะปรากฏขึ้น โดยขณะนี้ดาวเคราะห์น้อย 2011 AG5 ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวปู (Cancer) โดยมีค่าความสว่างประมาณ 24.7 Mag ซึ่งมีความสว่างน้อยเกินไป ที่จะติดตามถ่ายภาพจากหอดูดาวบนพื้นโลก ต้องรอให้ดาวเคราะห์น้อยโคจรกลับมา จนมีความสว่างมากพอ ราวๆ 21 Mag. กล้องดูดาวขนาดใหญ่บนพื้นโลกถึงจะเริ่มถ่ายภาพได้อีกครั้ง

สำหรับตอนต่อไปจะขอแนะนำการกำหนดขนาด FOV ให้เป็นไปตามอุปกรณ์ที่เราใช้สังเกตหรือถ่าพภาพครับ



วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

ติดตามการสำรวจพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยกับปฏิบัติการณ์ Dawn

สำรวจ Dawn  [Credit: NASA/JPL]

ยานสำรวจ Dawn ขององค์การนาซา ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 2007 โดยมีภารกิจเพื่อการสำรวจดาวเคราะห์น้อย Vesta และดาวเคราะห์แคระ Ceres ในบริเวณแถบเข็บขัดดาวเคราะห์น้อย ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี โดยมีกำหนดถึงวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย Vesta ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา ยาน Dawn จะถ่ายภาพและเก็บข้อมูลพื้นผิวของดาว Vasta เป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะออกจากวงโคจรไปในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012 จากนั้นจะเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์แคระ Ceres ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015

การเดินทางของยานสำรวจ Dawn  [Credit: NASA/JPL]

ขณะนี้ยาน Dawn ยังคงปฏิบัติภาระกิจอยู่บนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย Vesta โดยมีรายงานข้อมูลล่าสุดว่า อุปกรณ์ตรวจจับรังสีแกรมมาและอนุภาคนิวตรอน หรือ Gamma ray and neutron detector (GRaND) ของยาน ตรวจพบแร่ที่มีองค์ประกอบของธาตุไฮโดรเจนบนพื้นผิวของดาว Vesta ซึ่งมีลักษณะแบบเดียวกับที่พบในองค์ประกอบของน้ำ ซึ่งที่มาของสารประกอบไฮโดรเจนนี้ Thomas Prettyman หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของ GRaND กล่าวว่า “ที่มาของไฮโดรเจนที่พบภายในพื้นผิวของดาว Vesta นี้อาจเกิดขึ้นจากการถูกอุกกาบาตที่มีปริมาณคาร์บอนสูงพุ่งชนด้วยความเร็วต่ำ (คาร์บอนเป็นธาตุที่มีองค์ประกอบเป็นรูพรุน สามารถดูดซับสารที่มีโมเลกุลเล็กกว่าอย่างเช่นน้ำเอาไว้ได้) และพลังงานที่เกิดขึ้นจากการพุ่งชนนั้นไม่รุนแรงมาก ทำให้ยังสามารถรักษาอนุภาคที่ระเหยง่ายอย่างอนุภาคที่มีองค์ประกอบของไฮโดรเจนเอาไว้ได้ ”


ที่มาและข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.nasa.gov/mission_pages/dawn/news/dawn20120920.html


วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

ดาวเคราะห์น้อย และระดับความไม่แน่นอนของวงโคจร (U)

สำหรับดาวเคราะห์น้อยที่ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อเป็นตัวเลขอย่างถาวรนั้น หรือเรียกว่า Unnumbered Asteroids จะหมายถึง พวกดาวเคราะห์น้อยที่ผลการคำนวณวงโคจรยังไม่มีแม่นยำมากพอ

โดยความแม่นยำของวงโคจรนี้ จะถูกอธิบายด้วย ค่าความไม่แน่นอนของวงโคจร (Uncertainty Parameter: U) ซึงถูกระบุไว้เป็นระดับ ตั้งแต่ 0-9 หากความไม่แน่นอนมีค่าเท่ากับ 0 นั้นหมายถึง ดาวเคราะห์น้อยพวกนี้ มีวงโคจรที่มีความน่าเชื่อถือแล้ว ในขณะเดียวกัน หากความไม่แน่นอนมีค่ามากขึ้น หรือหากเท่ากับ 9 ก็แสดงว่า วงโคจรที่คำนวณได้ในตอนนี้ ยังไม่มีความแน่นอนเลย

ปกติการคำนวณวงโคจรของทั้งดาวเคราะห์น้อยและดวงหาง จำเป็นต้องอาศัย ผลการสังเกตการณ์จากหอดูดาวต่างๆ ทั่วโลก โดยการถ่ายภาพ และระบุตำแหน่งที่แน่นอนของดาวเคราะห์น้อย เมื่อเทียบกับตำแหน่งของดาวฤกษ์ โดยยิ่งข้อมูลเหล่านี้มีจำนวนมากเท่าไร การคำนวณวงโคจรก็จะมีความแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการช่วยกันส่งข้อมูลการสังเกต จึงเป็นทางเดียวที่จะทำให้ค่าความไม่แน่นอนของวงโคจรลดลง และสามารถระบุได้อย่างแม่นยำว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะพุ่งชนโลก หรือเพียงแค่โคจรเข้ามาใกล้เท่านั้น


วงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2011 AG5 ขณะที่มีค่าความไม่แนนอนยังเท่ากับ 3

เราสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของดาวเคราะห์น้อย ที่แสดงข้อมูลของวงโคจร คาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ข้อมูลการสังเกตการจากหอดูดาวต่างๆ รวมทั้งค่าความไม่แน่นอนของวงโคจรนี้ ได้จาก เว็บไซต์ของ Minor Planet Center (MPC)  ดังนี้

1. เลือก MPC Database จากหัวข้อ Databases ทางคอลัมน์ด้านซ้ายมือ

2. พิมพ์ชื่อดาวเคราะห์น้อยที่เราต้องการทราบข้อมูลลงไป แล้วคลิก Show


3. เราจะได้ข้อมูลล่าสุดของดาวเคราะห์น้อยที่เราต้องการ

จากข้อมูลข้างต้นนี้ ระบุว่าค่าความไม่แนนอนของวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2011 AG5 ยังคงอยู่ที่ระดับ 3 ด้วยคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1.71 ปี โดยขณะนี้ดาวเคราะห์น้อยได้เคลื่อนออกไปไกลกว่าที่จะสังเกตได้จากพื้นโลกแล้ว เราจึงต้องรอจนกว่าดาวเคราะห์น้อยจะเคลื่อนกลับมา และมีค่าความสว่างเพียงพอที่จะสังเกตได้อีกครั้ง การร่วมมือกันติดตามสังเกตการณ์ ของทั้งนักดาราศาสตร์อาชืพ และกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ทั่วโลก จะเป็นเครื่องมือเดียวที่สามารถทำให้ ค่าความไม่แนนอนของวงโคจรลดลงจนเป็น 0 ได้ และเมื่อถึงตอนนั้น เราจะบอกได้อย่างแม่นยำว่า ดวงเคราะห์น้อยดวงนี้จะมีโอกาสพุ่งชนโลกของเราหรือไม่ มาตราโทริโนจะถูกปรับให้สูงขึ้นหรือลงระดับลงมาเป็น 0 ก็ต้องรอติดตามกันต่อไปครับ

ข้อมูลเพิ่มเติมhttp://www.minorplanetcenter.net/iau/info/UValue.html


วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

รู้จักกับ Minor Planet Center (MPC)

Minor Planet Center หรือ MPC เป็นองค์กรที่่มีหน้าที่รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลการสังเกตการณ์ ของวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ จำพวกดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) และดาวหาง (Comet) เพื่อนำมาคำนวณวงโคจรและเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะชน ผ่านทางเว็บไซต์ www.minorplanetcenter.net


Minor Planet Center (http://www.minorplanetcenter.net/)

MPC มีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่หอดูดาว Smithsonian Astrophysical Observatory (SAO) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ (Center for Astrophysics: CfA) และหอดูดาว Havard College Observatory (HCO) ของมหาวิทยาลัย ของภาควิชาศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัย Havard.

จากข้อมูลล่าสุดของ MPC ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้อยู่ จำนวนดาวเคราะห์น้อยและดวงหางที่มีการค้นพบในขณะนี้มีมากถึง 92,801,308 ดวง โดยแบ่งเป็นดาวเคราะห์น้อย 92,195,601 ดวง และดาวหาง 605,707 ดวง และมีแนวโน้มว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

ความเสี่ยงในการพุ่งชนโลกของ NEOs

การระบุความเสี่ยงของ NEOs ที่มีโอกาสพุ่งชนโลกนั้น นักดาราศาสตร์จะใช้มาตราที่เรียกว่า  มาตราโทริโน (Torino Scale) ซึ่งแบ่งระดับความเสี่ยงออกเป็น 10 ระดับ คล้ายกับ มาตราริกเตอร์ (Richter Scale) ที่ใช้ระบุความรุนแรงของแผ่นดินไหว
โดยมาตราโทริโนที่ว่านี้ ถูกเสนอขึ้นครั้งแรกโดย ศาสตราจารย์ Richard Binzel แห่งมหาวิทยาลัย MIT ในปีค.ศ. 1995 ภายใต้ชื่อว่า "A Near-Earth Object Hazard Index" และต่อมาในเดือนกรกฏาคม ปี ค.ศ. 1999 ระหว่างการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับวัตถุใกล้โลก หรือ NEOs ศาสตราจาย์ Binzel ได้เสนอฉบับปรับปรุงใหม่ โดยแบ่งระดับความเสี่ยงของดาวเคราะห์น้อยแต่ละดวงออกเป็น 10 ระดับ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันระหว่างความเป็นไปได้ของการพุงชนโลก และระดับพลังงานจลน์ (มีหน่วยเทียบเป็น ปริมาณเมกกะตันของระเบิด TNT) หรือความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นหากมีการพุ่งชนจริง  และในครั้งนี้มีการโหวตให้ใช้ชื่อมาตราส่วนนี้ว่า "มาตราโทริโน" หรือ Torino Scale ตามชื่อเมื่อง Torino (Turin) ในประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นสถานที่จัดการประชุมในครั้งนั้นนั่นเอง 

เมือง Torino หรือ Turin ในประเทศอิตาลี


ปัจจุบันมาตราโทริโนถูกปรับปรุงล่าสุดในปี ค.ศ. 2004 โดยปรับปรุงคำอธิบายระดับความรุนแรงและเพิ่มรหัสโคดสี แบ่งโซนความเสี่ยงออกเป็น 5 โซนสี คือ สีขาว สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง เพื่อให้เข้าใจง่ายมากขึ้น และไม่สร้างความกังวนให้กับผู้คนมากเกินไป เนื่องจากระดับความเสี่ยงที่ถูกระบุไว้ตอนต้น อาจเปลี่ยนกลับมาเป็นระดับ 0 ได้ เมื่อสามารถคำนวณวงโคจรที่แม่นยำมากขึ้นได้

ระดับความเสี่ยงตามมาตราโทริโน

ข้อมูลจากโครงการ Near Earth Object Program ของ NASA ระบุว่าขณะนี้มีดาวเคราะห์น้อย ที่มีระดับความเสี่ยงเท่ากับ 1 ตามมาตราโทริโน ซึ่งมีระดับความเสี่ยงสูงที่สุดในเวลานี้ มีอยู่ 2 ดวง คือ 2011 AG5 และ 2007 VK184

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

ระบบการตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย

หลังจากที่ดาวเคราะห์น้อยถูกค้นพบครั้งแรก จะถูกตั้งระหัสชื่อชั่วคราวโดยผู้ค้นพบก่อน รหัสชื้อนี้ไม่ใช้ชื้อของผู้ค้นพบเลยนะครับ แต่จะเป็นระหัส 6 หลัก ที่ประกอบด้วยตัวอักษรบางส่วนของชื่อผู้ค้นพบและตัวเลข เช่น TEE001 เมื่อผู้ค้นพบส่งข้อมูลตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยไปยัง Minor Planet Center (MPC) ดาวเคราะห์น้อยจะได้รับการตั้งชื่อตามระบบการตั้งชื่อแบบสากลอีกทีหนึ่ง

ระบบการตั้งชือของดาวเคาระห์น้อยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นระบบที่ถูกปรับปรุงโดย Bower ในปี ค.ศ. 1924 และเริ่มนำมาใช้จริงตั้งแต่ปี ค.ศ.1925 โดยการตั้งชื่อจะเริ่มต้นด้วย ปี ค.ศ. ที่ค้นพบเป็นตัวเลข 4 หลัก และตามด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวใหญ่ ที่ระบุช่วงเวลาการค้นพบ ตั้งแต่ A-Y (ยกเว้นตัว I) โดยแบ่งออกเป็นช่วงละครี่งเดือน (ดูจากตารางด้านล่าง เช่น อักษร A แทนดาวเคราะห์น้อยที่ถูกค้นพบในช่วงวันที่ 1-15 มกราคม) จากนั้นตามด้วยอักษรตัวใหญ่อีก 1 ตัวเป็นการไล่ลำดับการค้นพบ ตั้งแต่ A-Z (ยกเว้นตัว I) ดังนั้นในแต่ละช่วงครึ่งเดือนจะมีจำนวนดาวเคราะห์น้อย 25 ดวง เช่น ในช่วงวันที่ 1-15 มกราคม ค.ศ. 2000 ดวงเคราะห์น้อย 25 ดวงแรกจะมีรหัสชื่อดังนี้ 2000AA - 2000AZ

หากในช่วงครึ่งเดือนนั้นพบดวงเคราะห์น้อยมากกว่า 25 ดวง ดวงที่ 26-50 การบอกลำดับจะเพิ่มตัวเลขกำกับคู่กับตัวอักษรเข้าไปอีก เป็น A1-Z1 ในทำนองเดียวกันดวงที่ 51-75 การไล่ลำดับจะเป็น A2-Z2 เป็นแบบนี้เรื่อยไปจนกว่าจะขึ้นช่วงครึ่งเดือนถัดไป

[Credit: Roger Dymock]

ตัวอย่างเช่น
ดาวเคราะห์น้อยที่ถูกค้นพบเป็นดวงที่ 10 ภายในวันที่ 1-15 ของเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2009 จะถูกตั้งชื่อว่า 2009 TK

ส่วนดาวเคราะห์น้อยที่ถูกค้นพบเป็นดวงที่ 30 ภายในวันที่ 1-15 ของเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2009 จะถูกตั้งชื่อว่า 2009 TE1 

สำหรับข้อมูลดาวเคราะห์น้อยที่ส่งให้กับ Minor Planet Center นั้น ชื่อของดาวเคราะห็น้อยจะถูกปรับให้เป็นชื่อแบบย่อ โดยจะเริ่มจากอักษร K (หมายถึง ค.ศ. 2000) ตามด้วยตัวเลขระบุปี ค.ศ.ที่เหลืออีก 2 หลัก แล้วตามด้วยอักษรแสดงช่วงครึ่งเดือนที่ค้นพบ  และสุดท้ายตามด้วยลำดับการค้นพบ แต่การบอกลำดับนี้จะถูกปรับให้ชุดที่มี 3 หลัก โดยนำตัวเลขที่เคยต่อท้ายมาไว้หน้ตัวอักษร โดยปรับให้ตัวเลขมี 2 หลัก (ถ้าไม่มีตัวเลขต่อท้ายตัวอักษรจะใช้เป็น 00 แทน) แล้วตามด้วยตัวอักษร

ตัวอย่างเช่น
ดาวเคราะห์น้อย 2009 TK จะมีชื่อย่อว่า K09T00K
ดาวเคราะห์น้อย 2009 TE1 จะมีชื่อย่อว่า K09T01E

หลังจากนั้น เมื่อวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยถูกระบุได้ค่อนข้างแน่นอนแล้ว ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะได้รับชื่อใหม่ เป็นตัวเลข ซึ่งเป็นตัวเลขแสดงลำดับของดาวเคราะห์น้อยที่ทราบวงโคจรที่ค่อนข้างแน่นอนแล้ว เช่น (337003) 2012 OG


NEO คืออะไร?

NEOs หรือ Near-Earth Objects เป็นชื่อเรียกวัตถุ ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์จำพวกดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) และดาวหาง (Comet) ที่มีวงโคจรใกล้หรือตัดกับวงโคจรของโลก ดังนั้น NEOs จึงเป็นวัตถุที่นักดาราศาสตร์จำเป็นต้องคอยเฝ้าติดตาม และต้องพยายามคำนวณวงโคจรที่ถูกต้องให้ได้เร็วที่สุด เพื่อจะได้สามารถพยากรณ์ได้ว่า วัตถุเหล่านี้จะมีโอกาสพุ่งชนกับโลกเราหรือไม่

การจำแนกกลุ่มของ NEOs
NEOs เป็นวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระยะห่างออกไปไม่เกิน 1.3 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) หรือไม่เกินกว่าระยะของดาวอังคาร โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้
  1. NECs (Near-Earth Comet) คือ กลุ่มของดาวหาง ที่เมื่อโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 1.3 AU ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดาวหางคาบสั้้น (shot-period) มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์น้อยกว่า 200 ปี
  2. NEAs (Near-Earth Asteroid) คือ กลุ่มของดาวเคราะห์น้อย ที่เมื่อโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 1.3 AU โดยยังถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ตามลักษณะของวงโคจรดังนี้
    • Atiras เป็นกลุ่มดาวเคราะห์น้อย ที่มีวงโคจรอยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ และถูกตั้งชื่อตามดวงเคราะห์น้อย 163693 Atiras ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงแรกของกลุ่มที่ถกค้นพบ
    • Atens เป็นกลุ่มดาวเคราะห์น้อย ที่มีวงโคจรตัดกับวงโคจรของโลก และโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่ระยะห่างมากที่สุด น้อยกว่า 0.9383 AU และถูกตั้งชื่อตามดวงเคราะห์น้อย 2062 Atens ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงแรกของกลุ่มที่ถกค้นพบ
    • Apollos   เป็นกลุ่มดาวเคราะห์น้อย ที่มีวงโคจรตัดกับวงโคจรของโลก และโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่ระยะห่างมากที่สุด มากกว่า 0.9383 AU และถูกตั้งชื่อตามดวงเคราะห์น้อย 1862 Apollos ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงแรกของกลุ่มที่ถกค้นพบ
    • Amors เป็นกลุ่มดาวเคราะห์น้อย ที่มีวงโคจรอยู่ระหว่างโลกและดาวอังคาร  และถูกตั้งชื่อตามดวงเคราะห์น้อย 1221 Amors ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงแรกของกลุ่มที่ถกค้นพบ
    ภาพแสดงลักษณะวงโคจรของ NEAs แต่ละกลุ่ม 
    [Credit: Roger Dymock]


  3. PHAs (Potentially Hazadous Asteriods) ดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มนี้ คือ NEAs ที่โคจรเข้ามาใกล้โลกของเรามาก โดยห่างจากโลกของเราไม่เกิน 0.05 AU และมีค่าความสว่างสมบูรณ์ (Absolute Magnitude: H) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 22 ซึ่งค่าความสว่างสมบูรณ์นี้จะเป็นตัวแปรที่ใช้ประมาณขนาดของดาวเคราะห์น้อย โดยค่าความสว่างสมบูรณ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 22 จะหมายถึงดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดตั้งแต่ 110 เมตรขึ้นไป